การกินถือเป็นเรื่องสำคัญของคนสิงคโปร์ แต่การกินแบบคนสิงคโปร์นั้นมีอะไรมากกว่าแค่อาหารอร่อยๆ เชิญคุณมาเจาะลึกวิถีปฏิบัติที่มีมายาวนาน เรียนรู้เกี่ยวกับมารยาทบนโต๊ะอาหารและสัมผัสประสบการณ์การรับประทานอาหารแบบคนสิงคโปร์แท้ๆ ด้วยคำแนะนำง่ายๆ ของเราที่จะบอกเล่าถึงวัฒนธรรมอาหารและธรรมเนียมปฏิบัติของคนสิงคโปร์

1. Chope (โช๊ป) ที่นั่งของคุณแบบแชมป์
อาหารและเครื่องดื่มบนโต๊ะที่ฮอว์กเกอร์ เซ็นเตอร์

เสาะหาและชิมอาหารที่ศูนย์อาหาร (ฮอว์กเกอร์ เซ็นเตอร์) ในสิงคโปร์ และคุณอาจจะพบเห็นห่อทิชชูและแม้แต่ร่มที่วางไว้บนโต๊ะและเก้าอี้

นี่เป็นสิ่งที่คนสิงคโปร์ใช้เพื่อจับจองที่ในศูนย์อาหารที่มีผู้คนมากมาย

พฤติกรรมนี้เรียกว่า chope (โช๊ป) (หรือจองที่นั่ง) ซึ่งพัฒนาขึ้นเมื่อคนสิงคโปร์ต้องการจองที่นั่งในศูนย์อาหารก่อนที่จะไปซื้ออาหาร และทำให้พวกเขาไม่ต้องยืนรอที่ว่างหรือเดินหาที่ว่างพร้อมกับถือถาดอาหารไปด้วย

ดังนั้น ครั้งต่อไปที่คุณไปที่ศูนย์อาหารและเห็นห่อกระดาษทิชชูหรือร่มวางอยู่บนโต๊ะว่างๆ คุณคงรู้แล้วว่าหมายถึงอะไร


2. ใช้สำนวนท้องถิ่นในการพูดถึงอาหาร
ลูกค้าผู้หญิงกำลังสั่งข้าวหน้าเป็ดที่ร้านอาหารในศูนย์อาหาร

ด้วยการเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ศัพท์สำนวนแบบสิงคโปร์ หรือที่เรียกว่า “Singlish” นั้นเกิดจากการรวมภาษาถิ่นต่างๆ เข้าด้วยกัน Makan (มะกัน), dabao (ดาเบา) และ shiok (โช๊ก) เป็นตัวอย่างของคำที่คุณจะได้ยินจากบรรดานักชิมชาวสิงคโปร์ เพื่อให้คุณเข้าใจมากขึ้นว่าคำเหล่านี้แปลว่าอะไร ต่อไปนี้เป็นคำแปลศัพท์สำนวนบางส่วนที่ใช้กันบ่อย

  • Makan (มะกัน) เป็นภาษามาเลย์สำหรับการกินอาหารและมักใช้เป็นคำกริยาในประโยค ตัวอย่างเช่น บางคนอาจพูดว่า “คุณ Makan หรือยัง” ซึ่งมีความหมายว่า “คุณกินแล้วหรือยัง””
  • Dabao (ดาเบา) หมายถึง “นำกลับ” และมักจะใช้ในประโยคคำตอบ เช่น “ฉันอยากจะ dabao ข้าวมันไก่”
  • Shiok (โช๊ก) เป็นประโยคอุทานที่แสดงความพอใจหรือสุขใจ คำนี้สามารถใช้ได้แต่คุณมักจะได้ยินคนสิงคโปร์เอ่ยขึ้นหลังจากได้ชิมอาหารอร่อยๆ ตัวอย่างเช่น คุณจะได้ยินคนสิงคโปร์พูดว่า “ข้าวมันไก่ที่กาตง ช้อปปิ้งเซ็นเตอร์นั้น shiok มากๆ
  • คุณสามารถใช้คำนี้ในการตอบคำถาม เช่น “คุณว่า ลอหมี่ (ราดหน้า) ที่ Old Airport Road Hawker Centre เป็นไงบ้าง” “shiok มากๆ เลย รับรองว่าต้องกลับไปกินอีกครั้ง!”

3. ใช้คำพูดที่แสดงถึงความเคารพ
แผงขายข้าวมันไก่ไหหลำในศูนย์อาหาร (ฮอว์กเกอร์ เซ็นเตอร์)

ผู้ที่มาเยือนสิงคโปร์เป็นครั้งแรกอาจจะสับสนเมื่อได้ยินคนสิงคโปร์เรียกผู้สูงอายุว่า “ลุง” (uncle) และ “ป้า” (aunty)

ทั้งที่ความจริงแล้วพวกเขาไม่ได้เป็นญาติทางสายเลือดกันแต่อย่างใด นั่นเป็นเพราะคนสิงคโปร์ที่อายุน้อยกว่าแสดงความสุภาพและความเคารพต่อผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นค่านิยมที่สำคัญมากสำหรับวัฒนธรรมเอเชียโดยส่วนใหญ่

คุณสามารถลองพูดคำเหล่านี้ได้เมื่อคุณจะสั่งอาหารจากร้านในศูนย์อาหารที่พ่อค้าหรือแม่ค้ามีอายุมากกว่าคุณ (อย่าไปพูดกับคนที่อายุไล่เลี่ยกันนะ) รับรองว่าคุณจะได้รับรอยยิ้มตอบกลับมาอย่างแน่นอน หรือบางทีอาจได้อาหารเยอะกว่าปกติอีกด้วย!


4. สั่งเครื่องดื่มเป็นภาษาท้องถิ่น
ลูกค้าหญิงสองคนกำลังซื้อเครื่องดื่มที่ร้านขายเครื่องดื่ม

เนื่องจากสภาพอากาศในสิงคโปร์เป็นแบบร้อนชื้น จึงไม่น่าแปลกใจที่คุณจะเห็นคิวยาวเป็นหางงูหน้าร้านขายเครื่องดื่มต่างๆ ใน ศูนย์อาหาร เช่น Bedok Marketplace และ Adam Road Food Centre

และเนื่องจากสิงคโปร์เป็นสังคมที่ทำอะไรเร็วๆ จึงมักมีการใช้ศัพท์เฉพาะในการสั่งเครื่องดื่มเพื่อเร่งขั้นตอนการสั่งให้เร็วขึ้น ความสนุกส่วนหนึ่งในการสั่งเครื่องดื่มจะมาความเชี่ยวชาญในการใช้ศัพท์เหล่านี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคุณคุ้นเคยกับวัฒนธรรมสิงคโปร์เป็นอย่างดี

ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำสั้นๆ (พร้อมด้วยคำแนะนำการออกเสียงในวงเล็บก้ามปู) ที่คุณสามารถนำไปใช้ในการสั่งอาหารเร็วๆ แบบคนท้องถิ่น

  • Teh [“เต๊ะ”]: หมายถึง เครื่องดื่มชา
  • Kopi [“โกปี”]: หมายถึง กาแฟ
  • C [“ซี”] หมายถึง นมข้นจืด เช่น ‘โกปี ซี’ หรือ ‘เต๊ะ ซี
  • Gao [“โกว”] หมายถึงเข้ม และสามารถใช้ในคำว่า โกปี โกว ซึ่งหมายถึงกาแฟเข้มๆ
  • Siu dai [“เซียวได”] หมายถึง หวานน้อย
  • Kosong [“โคซง”] หมายถึง “ไม่ใส่” มักใช้เพื่อสั่งเครื่องดื่มโดยระบุว่าไม่ใส่น้ำตาลหรือครีม
  • Peng [“เป็ง”] หมายถึง น้ำแข็ง ซึ่งมักใช้เพื่อจับคู่กับคำข้างบน ตัวอย่างเช่น “โกปี เป็ง” หมายถึง กาแฟเย็น ในขณะที่ “เต๊ะเป็ง” หมายถึงชาเย็น 

เมื่อคุณเริ่มคุ้นเคยกับคำเหล่านี้ คุณจะสามารถสั่งกาแฟสูตรซับซ้อนกว่านี้ได้สบายๆ ถ้าต้องการแสดงถึงความเชี่ยวชาญทางภาษาของคุณ ลองสั่ง โกปี ซี โกว โคซง เป็ง (กาแฟเย็นรสเข้ม ใส่นมข้นจืดและไม่ใส่น้ำตาล)!


5. สร้างสายสัมพันธ์ด้วยการรับประทาน zi char ร่วมกัน
ลูกค้ากำลังรับประทานอาหารที่ลานกลางแจ้งของร้าน Keng Eng Kee

ชุมชนเอเชีย รวมถึงสิงคโปร์ มักชอบรับประทานอาหารร่วมกันเป็นกลุ่ม ซึ่งสะท้อนกรอบความคิดเรื่องอาหารของเราในหลายๆ ด้าน

Zi Char (ซือชาร์) เป็นคำในภาษาจีนฮกเกี้ยนที่แปลว่า “ผัดและทอด” โดยใช้เพื่ออธิบายอาหารจีนที่ปรุงขึ้นในบ้าน และมีสมาชิกในครอบครัวมารับประทานอาหารร่วมกันอย่างอบอุ่น

อาหารสิงคโปร์บางรายการที่มักรับประทานร่วมกันในบรรยากาศกลุ่ม ได้แก่ ปูผัดพริก, หมูผัดเปรี้ยวหวาน และ ข้าวมันไก่ไหหลำ ซึ่งเป็นอาหารประจำชาติของสิงคโปร์

นอกจากนี้ ยังมีอาหารเมนูเด็ดอื่นๆ อีกมากมายที่รอให้คุณไปชิม โดยคุณสามารถเริ่มจากการไปที่ร้านขาย ซือชาร์ ใน Lau Pa Sat (ศูนย์อาหารนานาชาติเลาพ๊าซาด), Maxwell Food Centre (ศูนย์อาหารแม็กซ์เวล) และ Golden Mile Food Centre (โกลเด้นไมล์ ฟู้ดเซ็นเตอร์)


6. เข้าร่วมในประเพณีที่สืบสานมาแต่อดีตของเรา นั่นคือ การรับประทานอาหารและการต่อคิว!
ลูกค้ากำลังดูเมนูที่หน้าร้านอาหารที่ Chinatown Food Street

ถ้าการรับประทานอาหารและต่อคิวเป็นกีฬาในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ก็เป็นไปได้ที่คนสิงคโปร์จะได้รางวัลเหรียญทอง

ก่อนที่คนยุคมิลเลนเนียลจะตระหนักถึง “การกลัวตกกระแส” (FOMO) คนสิงคโปร์ก็รู้จักกับสิ่งนี้มาก่อนแล้วโดยเรียกกันว่า “kiasu (เกียซู หรือการกลัวแพ้คนอื่น)” ถ้าคุณเห็นคนต่อคิวยาวเหยียดที่ด้านหน้าร้านในศูนย์อาหาร คุณก็มั่นใจได้เลยว่าอาหารร้านนั้นอร่อยแน่นอน


7. คืนจานชามและถาดใส่อาหารที่จุดรับคืน
ภาพคุณลุงถือถาดอาหารที่ Chinatown Complex Food Centre

เนื่องจากศูนย์อาหาร (ฮอว์กเกอร์ เซ็นเตอร์) มักเต็มไปด้วยผู้คน จึงมักมีการกำหนดตำแหน่งส่งคืนถาดและจานชามที่ใช้แล้วไว้ตรงมุมสถานที่ เมื่อทานอาหารเสร็จแล้ว คนสิงคโปร์มักจะนำจานชาม ถาดใส่อาหาร และช้อนส้อมไปวางคืน เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับคนอื่นๆ

นอกจากนี้ ยังมีจุดรับคืนถาดและจานชามใช้แล้วแยกกันสำหรับผู้รับประทานอาหารฮาลาลและอาหารทั่วไป ดังนั้น คุณควรดูป้ายให้ดีและวางคืนอย่างเหมาะสม


8. เรียนรู้เกี่ยวกับมารยาทบนโต๊ะอาหารของสิงคโปร์
นักท่องเที่ยวยกนิ้วโป้งให้ที่หน้าร้านอาหาร Tiong Bahru Fried Kway Teow ในศูนย์อาหารฮอว์กเกอร์

ด้วยประวัติความเป็นมาของสังคมพหุวัฒนธรรม สิงคโปร์จึงเป็นแหล่งรวมเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลาย อาทิ มาเลย์ จีน อินเดีย และเปอรานากัน* ด้านล่างนี้คือคำแนะนำเกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติบนโต๊ะอาหารของชนชาติต่างๆ ซึ่งอาจไม่สามารถครอบคลุมได้ทั้งหมดทุกวัฒนธรรม

  • ตำแหน่งการวางตะเกียบ: ห้ามปักตะเกียบไว้ในจานข้าวหรือชามข้าวของคุณ เพราะดูคล้ายการปักธูปบนกระถางธูปไหว้ เสมือนการไหว้บรรพบุรุษหรือผู้ที่ล่วงลับไปแล้วในวัฒนธรรมจีน
  • การรับประทานอาหารด้วยมือ: บางครั้งการรับประทานอาหารมาเลย์และอาหารอินเดีย อาจใช้มือเปิบ ถ้าคุณได้รับเชิญให้ร่วมรับประทานอาหารด้วยมือ คุณควรหลีกเลี่ยงการใช้มือซ้ายเปิบอาหาร หรือส่งต่ออาหารด้วยมือซ้าย เพราะในวัฒนธรรมเหล่านี้ มักถือว่ามือซ้ายเป็นมือที่ไม่สะอาด
  • ควรให้ทิปหรือไม่: แม้ว่าการให้ทิปจะมองว่าเป็นเรื่องดีในร้านอาหารส่วนใหญ่ แต่บางครั้งก็ไม่จำเป็นถ้าในบิลค่าอาหารมีการคิดค่าบริการ (service charge) แล้ว
  • การรับประทานอาหารร่วมกับผู้สูงอายุ: ถ้าคุณรับประทานอาหารแบบเป็นกลุ่มกับคนสิงคโปร์ คุณควรเชิญให้ผู้สูงอายุเริ่มรับประทานก่อนเพื่อรักษามารยาท

*คำในภาษาอินโดนีเซีย/มาเลย์ที่แปลว่า "เกิดในท้องถิ่น" ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว หมายถึงชาวจีนเชื้อสายมลายู/อินโดนีเซีย