ด้วยประชากรหลากหลายเชื้อชาติ การเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมอันหลากหลายชาติพันธุ์และศาสนาหรือความเชื่อต่างๆ ทำให้สิงคโปร์เป็นเมืองพหุวัฒนธรรมที่สวยงามและน่าศึกษา

ต่อไปนี้คือคู่มือเรียนรู้มรดก อาหาร และวัฒนธรรมของสิงคโปร์ ซึ่งเต็มไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อันประกอบกันขึ้นเป็นแง่มุมต่างๆ ที่หลากหลายของแดนสิงโตแห่งนี้

ชาวจีน

ครอบครัวชาวจีนในชุดพื้นเมืองสมัยใหม่มาพบปะสังสรรค์กันในวันตรุษจีน ชาวจีนในสิงคโปร์ถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์
ถ่ายภาพโดย Michelle Goh

ชาวจีนนับเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ โดยมีสัดส่วนถึงเกือบ 3 ใน 4 ของประชากรในประเทศ ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่วัฒนธรรมจีนจะมีบทบาทเด่นในสิงคโปร์ (ตั้งแต่ภาษาและอาหาร ไปจนถึงกิจกรรมสันทนาการและเทศกาลเฉลิมฉลอง)

ชาวจีนส่วนใหญ่ในสิงคโปร์อพยพมาจากมณฑลทางใต้ของประเทศจีน อาทิ ฝูเจี้ยนและกวางตุ้ง ชาวจีนฮกเกี้ยนและแต้จิ๋วเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ รองลงมาคือชาวจีนกวางตุ้งและไหหลำ รวมทั้งชาวจีนเชื้อสายอื่นๆ

แรงงานชาวจีนที่ทำงานกับเรือหาปลา ภาพนี้ถ่ายในช่วงทศวรรษ 1930 ถึง 1950 ชาวจีนส่วนใหญ่ในสิงคโปร์เป็นผู้อพยพมาจากมณฑลทางใต้ของจีน

ชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในสิงคโปร์ในยุคแรกๆ ทำงานเป็นกุลี หรือผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญอันนำมาซึ่งอนาคตอันมั่งคั่งรุ่งเรืองของเมืองสิงโต ชาวจีนหลายคนประสบความสำเร็จจากความพากเพียรและมัธยัสถ์ ขณะที่หลายคนค่อย ๆ ไต่เต้าขึ้นเป็นเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ปัจจุบัน ชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีนมีอยู่ในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ตั้งแต่แวดวงการเมืองและธุรกิจ ไปจนถึงแวดวงกีฬาและธุรกิจบันเทิง

แม้ว่าวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวจีนจะถูกหลอมรวมเข้ากับกลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่นอื่นๆ ในประเทศและยังได้รับอิทธิพลจากตะวันตกอีกด้วย แต่ในเทศกาลตรุษจีน เราจะเห็นชาวจีนพากันเฉลิมฉลองในพิธีกรรมที่มีเอกลักษณ์ของเทศกาลนี้กันอย่างเคร่งครัด

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ชาวมาเลย์

หนุ่มสาวชาวสิงคโปร์เชื้อสายมาเลย์ไหว้ทักทายผู้อาวุโส ชาวมาเลย์ในสิงคโปร์เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่มีความผูกพันใกล้ชิดกันมาก

ชาวมาเลย์ซึ่งเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่เข้ามาตั้งรกรากในสิงคโปร์ นับเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ด้วยเหตุนี้ วัฒนธรรมของพวกเขาจึงมีอิทธิพลเหนือชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่มาตั้งรกรากที่นี่ในภายหลัง

ชาวมาเลย์ในสิงคโปร์นั้นอพยพมาจากภูมิภาคใกล้เคียง เช่น หมู่เกาะชวาและบาเวียนของอินโดนีเซีย รวมทั้งคาบสมุทรมาลายู

ภาษามาเลย์ที่เป็นภาษาพูดของคนท้องถิ่นที่นี่ใกล้เคียงกับภาษามาเลย์ที่ใช้กันในคาบสมุทรมาลายู มากกว่าที่ใช้ในอินโดนีเซีย

ภาพถ่ายขาวดำของชาวมาเลย์รุ่นแรกที่มาตั้งรกรากที่กำปงของสิงคโปร์ กล่าวกันว่าชาวมาเลย์เป็นผู้ที่มาตั้งรกรากในสิงคโปร์เป็นกลุ่มแรก
ด้วยความเอื้อเฟื้อจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติสิงคโปร์

อาหารของพวกเขา ได้แก่ นาซิเลอมัก (ข้าวมันที่รับประทานกับเครื่องเคียงต่างๆ) และหมี่เรอบุส (เส้นหมี่เหลืองราดน้ำแกงเผ็ด) ที่มีรสชาติถูกปากคนท้องถิ่นและเป็นอาหารริมทางยอดนิยมของสิงคโปร์

ชาวมาเลย์ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมและงานเทศกาลเฉลิมฉลองที่สำคัญก็คือ งานฮารี รายา ปัวซา และงานฮารี รายา ฮัจจิ โดยเราจะเห็นชุมชนที่มีความใกล้ชิดกันนี้เฉลิมฉลองเทศกาลที่เต็มไปด้วยสีสันนี้ร่วมกัน อันเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมและศาสนา

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ชาวอินเดีย

ครอบครัวชาวอินเดียสมัยใหม่นั่งพูดคุยกันขณะรับประทานของว่าง วัฒนธรรมอินเดียได้เพิ่มสีสันให้กับสิงคโปร์ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติ
© Singapore Press Holdings Limited พิมพ์ซ้ำโดยได้รับอนุญาต

ชาวอินเดียเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของสิงคโปร์ และชุมชนที่นี่มีประชากรชาวอินเดียที่เป็นชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากที่สุด

ชาวอินเดียส่วนใหญ่มาจากภาคใต้ของประเทศอินเดีย หลังจากที่อังกฤษได้เข้ามาตั้งรกรากในสิงคโปร์ในปี ค.ศ. 1819 ปัจจุบัน พลเมืองอินเดียเกือบ 60% ในสิงคโปร์เป็นลูกหลานของชาวทมิฬ กว่าครึ่งหนึ่งของชาวอินเดียในสิงคโปร์ยังเป็นชาวฮินดูอีกด้วย

อย่างที่ทราบกันดีว่าชาวอินเดียมีสัญชาตญาณของการเป็นผู้ประกอบการ ชาวอินเดียส่วนใหญ่จึงประกอบธุรกิจขึ้นที่นี่ โดยค้าขายสินค้าแทบทุกอย่าง ตั้งแต่สิ่งทอไปจนถึงเพชรพลอยอัญมณี ทุกวันนี้ พวกเขายังมีบทบาทในแวดวงการเมืองและผู้เชี่ยวชาญทางวิชาชีพอีกด้วย

ภาพถ่ายขาวดำของคุณแม่ยังสาวชาวอินเดียกับลูกๆ สามคนที่ร้านขายผ้าและเครื่องประดับ ชาวอินเดียในสิงคโปร์เป็นหนึ่งในชุมชนชาวอินเดียในต่างประเทศที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก
© Singapore Press Holdings Limited พิมพ์ซ้ำโดยได้รับอนุญาต

เราคงยังพูดถึงชาวอินเดียในสิงคโปร์ได้ไม่ครบถ้วน ถ้าไม่กล่าวถึงอาหารของพวกเขา ซึ่งช่วยเพิ่มรสชาติแปลกใหม่ให้กับอาหารที่หลากหลายของสิงคโปร์ และยังเป็นอาหารสุดโปรดของหลายๆ คน เช่น โดซา (Thosai) หรือขนมเบื้องญวนแบบอินเดีย และขนมวาได (Vadai) หรือขนมแป้งทอด

เทศกาลของชาวอินเดียที่นี่เต็มไปด้วยความสนุกสนานคึกคักหลากสีสัน เทศกาลดีปาวลี (ทีปาวลี) หรือเทศกาลแห่งแสงไฟเป็นงานเทศกาลหลักของชาวอินเดีย ขณะที่เทศกาลไทปูซัมซึ่งเป็นเทศกาลศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดูที่เหล่าสาวกจะใช้เหล็กแหลมแทงตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อเป็นการล้างบาป นับเป็นงานเทศกาลแห่งศรัทธาความเชื่อที่น่าตื่นเต้นสำหรับผู้เข้าชม

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ชาวยูเรเชียน

ครอบครัวชาวยูเรเซียนถ่ายรูปหน้า Merlion Park (เมอร์ไลออน พาร์ค) ชาวยูเรเชียในสิงคโปร์เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการผสมผสานวัฒนธรรมตะวันออกกับวัฒนธรรมตะวันตกได้อย่างลงตัวและสร้างสีสันในสิงคโปร์

ชุมชนยูเรเชียนกลุ่มเล็กๆ แต่มีอิทธิพลสูงในสิงคโปร์และช่วยสร้างสีสันแห่งโลกตะวันออกที่มาพบกับโลกตะวันตกในประเทศนี้ได้เป็นอย่างดี กลุ่มชาติพันธุ์นี้ประกอบด้วยผู้คนทั้งชาวยุโรปและชาวเอเชีย ซึ่งได้ย้ายมาอยู่ในสิงคโปร์ตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 19

ในกลุ่มชาวยูเรเชียนส่วนใหญ่ในสิงคโปร์สามารถสืบค้นย้อนหลังได้ว่า บรรพบุรุษของพวกเขาเป็นชาว ยุโรป เช่น ชาวโปรตุเกส ดัตช์ หรืออังกฤษ ในขณะที่บรรพบุรุษชาวเอเชีย นั่นก็คือ ชาวจีน ชาวมาเลย์ หรือชาวอินเดีย

ชาวยูเรเชียนกลุ่มแรกมาถึงสิงคโปร์เพียงไม่กี่ปีให้หลังนับจากที่อังกฤษได้ก่อตั้งสิงคโปร์ขึ้นในปี ค.ศ. 1819 และส่วนใหญ่แล้วเดินทางมาจากปีนังและมะละกา ในยุคอาณานิคม ชาวยูเรเชียนส่วนใหญ่ได้รับการว่าจ้างให้เป็นเสมียนในหน่วยงานราชการ ธนาคารยุโรป และองค์กรเชิงพาณิชย์และธุรกิจการค้าอื่นๆ ส่วนผู้หญิงก็มักทำงานเป็นครูหรือนางพยาบาล

ภาพถ่ายขาวดำของครอบครัวชาวยูเรเซียนยุคแรกๆ ที่มาตั้งรกรากในสิงคโปร์ ชาวยูเรเชียนยุคแรก ๆ เดินทางถึงสิงคโปร์เพียงไม่กี่ปีหลังจากที่ชาวอังกฤษได้ก่อตั้งสิงคโปร์
Lee Brothers Studio Collection ด้วยความเอื้อเฟื้อจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติสิงคโปร์

ปัจจุบันมีชาวยูเรเชียนในสิงคโปร์ราว 15,000 ถึง 30,000 คน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของประชากรทั้งหมด กล่าวได้ว่าชาวยูเรเชียนมีบทบาทสำคัญในสื่อและอุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศ

ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรกของชาวยูเรเชียน แม้ว่าคนรุ่นเก่าที่มีเชื้อสายโปรตุเกสจะพูดภาษาโปรตุเกสลูกผสมหรือที่เรียกว่า ภาษาคริสตัง

นอกจากนี้ ชาวยูเรเชียนยังมีวัฒนธรรมอาหารของตนเอง เช่น อาหารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะอย่าง Mulligatawny Soup (ซุปรสเผ็ดสไตล์อินเดีย) พายเนื้อแกะ และเค้ก Sugee

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เปอรานากัน

ภาพถ่ายขาวดำของครอบครัวชาวเปอรานากันในยุคแรกๆ ที่เข้ามาในสิงคโปร์ ชาวเปอรานากันในสิงคโปร์นับเป็นเสน่ห์ของการผสมผสานวัฒนธรรมต่าง ๆในภูมิภาคนี้ได้อย่างลงตัว
คอลเลคชั่นของ Lee Hin Ming ด้วยความเอื้อเฟื้อจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติสิงคโปร์

ชาวเปอรานากัน* คือตัวอย่างของการผสมผสานทางวัฒนธรรมอันมีเสน่ห์ของภูมิภาคนี้ ชาวจีนเปอรานากัน หรือชาวจีนช่องแคบ (Straits Chinese) ในสิงคโปร์สืบเชื้อสายมาจากผู้ที่เคยอาศัยอยู่ในบริเวณแถบมะละกาในศตวรรษที่ 15 โดยบรรพบุรุษของพวกเขาเป็นพ่อค้าชาวจีนที่แต่งงานกับหญิงสาวชาวมาเลย์ท้องถิ่น

นอกจากนี้ ยังมี Chitty Melaka หรือชาวอินเดียเปอรานากัน ที่เป็นลูกหลานของพ่อค้าฮินดูชาวอินเดียใต้ที่แต่งงานกับหญิงสาวท้องถิ่น และหญิงสาวชาวยาวี เปอรานากัน ซึ่งเป็นลูกหลานของพ่อค้ามุสลิมจากอินเดียใต้กับหญิงสาวในชุมชนท้องถิ่น

ชาวเปอรานากันยุคเริ่มต้นส่วนใหญ่มักเป็นพ่อค้าแม่ขาย ในขณะที่บางคนก็ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ชิปปิ้ง และการธนาคาร

แม้ว่าชาวจีนช่องแคบส่วนใหญ่ได้ปรับตัวเข้ากับชุมชนชาวจีนกลุ่มใหญ่แล้ว แต่พวกเขาก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องอาหารและเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย

อาหารเปอรานากันได้รับอิทธิพลจากอาหารมาเลย์ที่เผ็ดร้อน และเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วไปสัมผัสได้ง่ายที่สุดสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์นี้ Nonya food (อาหารยอนย่า) ซึ่งตั้งชื่อตามบรรดาสตรีที่ปรุงอาหารชนิดนี้ สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของอินโดนีเซียและมาเลย์ที่แข็งแกร่ง ดังจะเห็นได้จากการใช้เครื่องเทศและกะทิในอาหาร

*คำในภาษาอินโดนีเซีย/มาเลย์ที่แปลว่า "เกิดในท้องถิ่น" โดยทั่วไปแล้ว หมายถึงชาวจีนเชื้อสายมลายู/อินโดนีเซีย

ผู้หญิงชาวสิงคโปร์เชื้อสายเปอรานากันในชุดเกบาย่า ซึ่งเป็นชุดพื้นเมือง ชุดพื้นเมืองของชาวเปอรานากันหรือที่เรียกว่า ชุดเกบาย่า (Nonya Kebaya) แสดงให้เห็นถึงรายละเอียดของลายปักที่สวยงาม
ถ่ายภาพโดย Jaclyn Tan

ในงานสำคัญ ๆ ที่เป็นทางการ สตรีชาวเปอรานากันมักจะสวมใส่ชุดพื้นเมือง เช่น ชุดเกบาย่า ที่ได้รับอิทธิพลจากชุดเกบาย่าที่สวมคู่กับโสร่งของมาเลย์ เสื้อผ้าที่มีสีสันสดใสสวยงามมักปักประดับด้วยลวดลายที่ละเอียดประณีต เช่น ลายกุหลาบ ดอกกล้วยไม้ หรือผีเสื้อ

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สิ่งอื่นๆ

ที่น่าลอง