เดินทางย้อนอดีตสู่ยุคอาณานิคมไปตามเส้นทางเที่ยวชมศิลปะย่านซีวิค ดิสทริคท์ และเรียนรู้เกี่ยวกับอนุสาวรีย์และอนุสรณ์สถานที่สำคัญบางแห่งของสิงคโปร์
เพ่งพินิจมรดกทางวัฒนธรรมของสิงคโปร์ผ่านงานศิลปะ
หากคุณสนใจที่จะเรียนรู้ให้มากขึ้นเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและผลงานศิลปะของสิงคโปร์ นี่คือคู่มือท่องเที่ยวที่เหมาะสำหรับคุณ
เส้นทางเที่ยวชมศิลปะย่านซีวิค ดิสทริคท์จะเจาะลึกหัวใจแห่งอดีตของสิงคโปร์ จากรูปปั้นทางประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียง เช่น รูปปั้นเซอร์ สแตมฟอร์ด ราฟเฟิลส์ ผู้ก่อตั้งประเทศสิงคโปร์ สู่ผลงานสถาปัตยกรรมที่เป็นสัญลักษณ์แห่งศตวรรษที่ 21
นอกจากนี้ ยังจะได้ชื่นชมผลงานของประติมากรแถวหน้าของสิงคโปร์ รวมทั้งผลงานสมัยใหม่โดยฝีมือของศิลปินจากทั่วโลก
สถานีรถไฟฟ้า MRT Dhoby Ghaut MRT มุ่งไปที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสิงคโปร์
ลงรถไฟฟ้า MRT ที่สถานี Dhoby Ghaut และมุ่งหน้าต่อไปที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสิงคโปร์ ระหว่างทางที่เดินไป จะได้พบกับโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่ทำมุมตัดกันบนพื้นหญ้าด้านหน้าที่ทำการ YMCA ของสิงคโปร์ ตรงมุมถนนพรินเซปตัดกับถนนออร์ชาร์ด นี่เป็นผลงานประติมากรรมอันดับ 2 ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ นั่นคือ 1 เอ็นด์เลส โฟลว์ (Endless Flow) (ค.ศ. 1980) โดยฝีมือของตัน เต็ง คี ศิลปินชาวสิงคโปร์
งานประติมากรรมที่ทำจากทองเหลืองสูง 6.4 เมตรนี้ เดิมตั้งอยู่ที่ด้านนอกโอซีบีซี เซ็นเตอร์ บนถนนจูเลีย โดยได้รับการว่าจ้างให้จัดทำขึ้นโดยธนาคารโอซีบีซี หลังจากที่ทางธนาคารได้บริจาคผลงานนี้ให้แก่หน่วยงานสวนสาธารณะและสันทนาการ (Parks and Recreation Department) ของสิงคโปร์ในปี 1983 ผลงานชิ้นนี้ก็ถูกย้ายไปวางที่สวนสาธารณะบราส บาซาห์และต่อมาก็ถูกย้ายมาวางในตำแหน่งที่ตั้งปัจจุบัน
เมื่อไปถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสิงคโปร์ จะสังเกตเห็น 2 ประติมากรรมชุด 20 Tonnes (ค.ศ. 2002) โดยฝีมือของฮัน ไซ ปอร์ ประติมากรชาวสิงคโปร์ แผ่นแกรนิตเนื้อหยาบและหนาหนักจำนวนหกชิ้นนี้ตั้งเรียงกันเป็นแถว ผลงานศิลปะอีกชิ้นของฮันคือ 3 ซีดส์ (Seeds) (ค.ศ. 2006) รูปปั้นที่ดูคล้ายเนื้อในเมล็ดสีน้ำตาลขนาดยักษ์ที่แกะสลักจากหินทรายซึ่งเคลื่อนย้ายมาจากสวนสาธารณะฟอร์ทแคนนิ่งในช่วงเวลาที่มีการสร้างพิพิธภัณฑ์นี้ขึ้น
มองไปทางซ้าย ก็จะได้พบกับ 4 Living World (1987) รูปปั้นทองสำริดหลากสีสันโดยฝีมือของจูหมิง ประติมากรชาวไต้หวัน ที่สร้างขึ้นในงานฉลองครบร้อยปีของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสิงคโปร์ในอดีต อีกด้านหนึ่งเป็นผลงานประติมากรรมทำจากเหล็กกล้า 5 Transformation (ค.ศ. 2004) ซึ่งบิดเป็นเกลียวและมีแท่งยาวแหลม โดยฝีมือการสร้างสรรค์ของตัน เต็ง คี ประติมากรชื่อดัง
ด้านหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติคือ 6 Let There Be Peace (ค.ศ. 2005) ผลงานอเล็กซานดร้า เนชิต้าจากโรมาเนีย นั่นคือ อนุสาวรีย์สันติภาพขององค์การสหประชาชาติที่ทำจากทองสำริดสูง 3 เมตรที่สร้างขึ้นสำหรับเอเชีย เดินย้อนกลับไปที่พิพิธภัณฑ์ เพื่อเดินไปยังประตูด้านหลัง ที่นี่จะได้พบกับ 7 ภัตตาคารเปดาส เปดาส (Pedas Pedas) (ค.ศ. 2006) โดยคูมารี นาฮัปปัน ศิลปินชาวสิงคโปร์ ชื่อผลงานนี้แปลว่า “เผ็ดร้อน” ในภาษามาเลย์ และรูปปั้นพริกเม็ดใหญ่นี้เป็นสัญลักษณ์ของการหลอมรวมทางวัฒนธรรมที่รุ่มรวยในสิงคโปร์
สวนประติมากรรมอาเซียน (ASEAN Sculpture Garden)
ข้ามถนนจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสิงคโปร์ที่บริเวณฟอร์ทแคนนิ่ง ลิงค์ เพื่อเดินเที่ยวต่อที่สวนสาธารณะฟอร์ทแคนนิ่ง เมื่อเดินผ่านที่จอดรถ ก็จะมาถึงสวนประติมากรรมอาเซียน (ASEAN Sculpture Garden)
ผลงานศิลปะที่จัดวางไว้กลางแจ้งในบริเวณที่เงียบสงบแห่งนี้ได้รับการรังสรรค์ขึ้นในปี ค.ศ. 1981 สำหรับงาน ASEAN Sculptures Symposium ที่จัดขึ้นในสิงคโปร์ แต่ละประเทศสมาชิกจากทั้งหมด 5 ประเทศของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อันประกอบด้วยฟิลิปปินส์ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์) ได้บริจาคเงินเพื่อสร้างผลงานประติมากรรมไว้ในสวนแห่งนี้ซึ่งอยู่ในสวนสาธารณะ ในปี ค.ศ. 1988 บรูไนได้มอบผลงานชิ้นนี้ให้เมื่อบรูไนเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มอาเซียน
ผลงาน 8 ออกูรี (Augury) สีแดงเข้ม (ค.ศ. 1988) โดยแอนโทนี เลา ชาวมาเลเซีย ถูกนำมาวางแทนงานประติมากรรม Taming Sari เดิมที่ทำจากไฟเบอร์กลาส ฝีมือของอาริฟฟิน โมฮัมเหม็ด อิสมาอิล ที่สึกกร่อนเนื่องจากสภาพอากาศ
อึ๊ง เอ็ง เต็ง ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งงานประติมากรรมของสิงคโปร์ ได้สร้างผลงาน 9 Balance สไตล์มินิมัลลิสท์ (ค.ศ. 1982) ขึ้นโดยได้รับการว่าจ้างจากคณะกรรมการวัฒนธรรมและสารสนเทศ (Committee on Culture and Information)
10 Concentration (ค.ศ. 1982) โดยฝีมือของวิชัย สิทธิรัตน์จากประเทศไทย ทำขึ้นจากแผ่นเหล็กกล้า ขณะที่ 11 ยูนิตี้ (Unity) (1982) โดยบุท มุคตาร์ ประติมากรชาวอินโดนีเซีย ทำขึ้นจากเหล็กและทองแดง
ผลงาน 12 Together (ค.ศ. 1988) ที่ทำจากเหล็กกล้าพิเศษและมีลักษณะคล้ายเสาธงนี้สร้างสรรค์โดยออสมัน บิน โมฮัมหมัดชาวบรูไน และเป็นสัญลักษณ์ของสมาชิกทั้ง 6 ประเทศของอาเซียนในเวลานั้น
อันดับสุดท้าย 13 Fredesvinda (ค.ศ. 1982) ที่ทำจากเหล็กและคอนกรีต สูง 5 เมตรโดยฝีมือของนโปเลียน เวโลโซ อาบิววา จากฟิลิปปินส์ ดูคล้ายโครงเรือที่ยังต่อไม่เสร็จ ชื่อนี้มีความหมายว่า “พลังของประเทศ” ในภาษาเยอรมัน
สถานีรถไฟฟ้า MRT City Hall ไปที่ดิ อาร์ต เฮาส์
นั่งรถไฟจากสถานีรถไฟฟ้า MRT Dhoby Ghaut เพื่อไปลงที่สถานี City Hall พื้นที่นี้เป็นใจกลางย่านซีวิค ดิสทริคท์ของสิงคโปร์ ซึ่งมีอาคารทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญหลายแห่ง
เดินไปยังอาคารที่เคยเป็นที่ทำการของศาลฎีกาเก่าที่ยิ่งใหญ่อลังการบนถนนเซนต์แอนดรูว์ ปัจจุบัน อาคารหลังนี้เป็นส่วนหนึ่งของหอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์ (National Gallery Singapore) ซึ่งเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2015 คุณยังสามารถชมผลงาน 14 ประติมากรรมชุดสัญลักษณ์แห่งความยุติธรรม (Allegory of Justice) (ค.ศ. 1937) ได้เมื่อมองไปยังดาดฟ้าอาคาร รูปปั้นที่แสดงถึงความยุติธรรม ความเมตตา กฎหมาย ความกตัญญู และความรุ่งเรือง ซึ่งเป็นเครื่องแสดงถึงระบบที่มีกฎหมายและระเบียบข้อบังคับนี้ เป็นผลงานที่สร้างสรรค์โดย Cavalieri Rudolfo Nolli ประติมากรชาวอิตาลีที่เคยสร้างพระที่นั่งถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ในปี ค.ศ. 1913
ข้ามถนนไปที่โรงละครวิคตอเรีย นี่เป็นที่ที่จะได้เห็นรูปปั้นที่คล้ายกับ 15 รูปปั้นเซอร์สแตมฟอร์ด ราฟเฟิลส์ (Sir Stamford Raffles) ชายผู้เริ่มต้นทุกสิ่งทุกอย่างในฐานะผู้ก่อตั้งสิงคโปร์สมัยใหม่ นี่เป็นรูปปั้นดั้งเดิมที่ทำจากทองสำริดเข้ม โดยฝีมือของโธมัส วูลเนอร์ ในปี ค.ศ. 1887 และใช้ชื่อเล่นว่า โอรัง เบซี ที่แปลว่า “คนเหล็ก” ในภาษามาเลย์ รูปปั้นนี้สร้างขึ้นครั้งแรกในวันพระราชพิธีกาญจนาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรียเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 1887 ที่ปาดัง แต่ต่อมาถูกเคลื่อนย้ายมายังตำแหน่งปัจจุบันในช่วงงานเฉลิมฉลองครบ 100 ปีของการค้นพบสิงคโปร์เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1919
เดินไปไม่ไกลนักจากดิ อาร์ต เฮาส์ สถานที่ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นอาคารรัฐสภาเก่า จะได้พบกับรูปปั้น 16 Elephant Statue ที่ทำจากทองสำริด ซึ่งเป็นของขวัญที่พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อเป็นการแสดงถึงการเสด็จเยือนสิงคโปร์ในปี 1871 มีข้อความจารึกไว้บนแท่นสูงของอนุสาวรีย์เป็นภาษาไทย ยาวี จีน และอังกฤษ ที่มีเนื้อความว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ เจ้าแผ่นดินแห่งสยาม ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นเมืองสิงคโปร์ เป็นแผ่นดินต่างประเทศที่พระมหากษัตริย์แห่งสยามได้เสด็จประพาสเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1871”