ด้านนอกมัสยิด Hajjah Fatimah Mosque

ไม่บ่อยนักที่คุณจะได้พบสุเหร่าที่ตั้งชื่อตามผู้หญิง มัสยิด Hajjah Fatimah Mosque ได้ชื่อมาจากนักธุรกิจหญิงที่ร่ำรวย ผู้บริจาคที่ดินให้แก่มัสยิดนี้ซึ่งสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 19

ที่ดินนี้เคยเป็นที่ตั้งของบ้านที่นักธุรกิจหญิงผู้นี้พำนักอยู่ แต่หลังจากมีขโมยขึ้นสองครั้งและเกิดเพลิงไหม้ (โดยที่เธอสามารถหนีออกมาได้โดยไม่ได้รับอันตราย) เธอจึงตัดสินใจบริจาคที่ดินให้เป็นที่ก่อสร้างมัสยิดขึ้น

การผสมผสานระหว่างตะวันออกกับตะวันตก

ได้รับการออกแบบโดยชาวอังกฤษไม่ทราบชื่อ สถาปัตยกรรมของสุเหร่านี้เป็นส่วนผสมที่มีเสน่ห์อันเกิดจากการผสมผสานอิทธิพลจากยุโรป มาเลย์ และจีน

มัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1846 โดยมีโดมรูปทรงคล้ายหัวหอม และสถานที่สำหรับอาบน้ำละหมาดที่ดูคล้ายบ้านของชาวมาเลย์ ภายในตกแต่งด้วยงานแกะสลักไม้รูปแบบดั้งเดิมในแบบมาเลย์-มุสลิม

คุณจะสังเกตเห็นกระเบื้องเคลือบแบบจีนที่นำมาตกแต่งตามลายลูกกรงของหน้าต่าง บนหอคอยสุเหร่า และด้านบนสุดของโครงหลังคา

แต่สิ่งที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือหอคอยสุเหร่า ซึ่งคล้ายกับยอดแหลมของโบสถ์คริสต์ หอคอยสุเหร่านี้เป็นหอคอยแปดเหลี่ยมแบบสามชั้นจำนวนสองหลัง และพีระมิดยอดแหลม นอกจากนี้ มักมีการนำหอคอยสุเหร่านี้ไปเปรียบเทียบกับคริสตจักรเซนต์แอนดรูว์แห่งแรก (ซึ่งปัจจุบันกลายเป็น St Andrew’s Cathedral (มหาวิหารเซนต์แอนดรูว์))

‘หอเอน’ แห่งสิงคโปร์

องค์ประกอบอื่นๆ ในแบบยุโรป ได้แก่ เสาแบบดอริคบนหอคอยสุเหร่า และช่องประตูรูปปลายดาบ มุข และหน้าต่างโค้ง

เมื่อเวลาผ่านไป หอคอยสุเหร่าเริ่มเอียงไปทางโดมประมาณหกองศา จากตำแหน่งศูนย์กลาง เนื่องจากฐานของสุเหร่าเป็นทราย

ทั้งนี้มีการดำเนินงานอนุรักษ์เพื่อช่วยซ่อมแซมไม่ให้หอคอยเอียงเพิ่มอีก แต่การเอียงตั้งแต่แรกนั้นยังคงปรากฏให้เห็นชัดซึ่งเป็นที่ชื่นชอบแก่ผู้มาเยี่ยมชม จึงพากันขนานนามหอคอยสุเหร่าแห่งนี้ว่าเป็น “หอเอนปิซ่า” แห่งสิงคโปร์