ศิลปินร่วมสมัย
คุณอาจรู้จัก Jahan ในฐานะของผู้ที่ได้เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ของเนื้อกระป๋องยี่ห้อ ‘Ma Ling’ ให้กลายเป็นงานศิลปะแบบป๊อปอาร์ต ผลงานที่โด่งดังอันเป็นเอกลักษณ์ของเขานี้ได้รับการจัดแสดงครั้งล่าสุดในงานนิทรรศการ B-Side and Rarities ที่ Ion Art Gallery ซึ่งเคยจัดแสดงผลงานต่างๆ มากมายของ Jahan ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา Jahan เป็นศิลปินคนแรกที่นำงานสตรีทอาร์ตเข้ามาสู่แกลเลอรี่ได้ทั้งในสิงคโปร์และประเทศจีน เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ยกระดับงานป๊อปอาร์ตของสิงคโปร์ให้ก้าวสู่ระดับสากล และมีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะสมัยใหม่ในไต้หวัน ในปี 2011 ผลงานของเขาได้รับคัดเลือกโดยมูลนิธิแอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol Foundation) ให้จัดแสดงในงานนิทรรศการของ Andy Warhol ที่ชื่อ 15 Minutes Eternal ณ ArtScience Museum (พิพิธภัณฑ์ศิลปะวิทยาศาสตร์)
“ในปี 2008 ผมตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อมาทำงานศิลปะเต็มตัว” Jahan เล่า “ผมไม่อยากรู้สึกเสียใจไปตลอดชีวิต สองปีแรกนั้นหนักมาก เพราะไม่มีรายได้เข้ามาเลย” ชายผู้ละทิ้งงานด้านกฎหมายเพื่อมาทำงานศิลปะเล่าให้ฟังว่า วัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างมากของสิงคโปร์ คือหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลสำคัญต่อความหลงใหลของเขา “ในสิงคโปร์ เราได้สัมผัสกับวัฒนธรรมต่างๆ ที่หลากหลาย ดังนั้นการเติบโตมาในสิงคโปร์ ทำให้เราเปิดรับการอยู่ร่วมกันของวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออกได้โดยปริยาย”
ในฐานะศิลปินที่ศึกษาเรื่องความแตกต่าง Jahan ได้รับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ซึ่งวัฒนธรรมดั้งเดิมมาบรรจบกับความกล้าที่จะแตกต่าง และที่ที่ความเป็นตะวันออกผสมผสานกับความเป็นตะวันตก มองสิงคโปร์ผ่านมุมมองของ Jahan
“ปัจจุบันผมมักได้แรงบันดาลใจอย่างมากจากธรรมชาติ และหนึ่งในนั้นคือ MacRitchie Reservoir (อ่างเก็บน้ำ แม็ค ริตชี)” “ในช่วงที่ผมเดินทางไปที่ต่างๆ ผมก็ตระหนักว่าหลายประเทศไม่มีพื้นที่สีเขียวให้ปอดได้สูดอากาศบริสุทธิ์ แต่สิงคโปร์ยังมีพื้นที่สีเขียวตามธรรมชาติอยู่อีกมาก และนั่นเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีใครให้เครดิตกับเมืองของเราในแง่นี้"
ย่าน Tiona Bahru ก็คล้ายกับงานศิลปะของ Jahan กล่าวคือเป็นย่านที่ผสมผสานเสน่ห์แห่งโลกเก่าและโลกใหม่เข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน “บรรยากาศของ Tiong Bahru จะพาคุณย้อนเวลากลับไป" เขาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับย่านที่เขาเห็นว่าเป็นหนึ่งในที่ที่สร้างแรงบันดาลใจได้มากที่สุดในสิงคโปร์ “คุณจะพบเห็นผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นี่มานาน ร่วมกับบรรดาฮิปสเตอร์หนุ่มสาว นี่จึงเป็นการผสานกันของโลกเก่าและโลกใหม่”
นิทรรศการของ Jahan ที่ชื่อ “Cherry Poke: Reconstituted Philosophy” ได้วิเคราะห์อัตลักษณ์ของคนสิงคโปร์ไว้ว่า เป็นการผสมผสานกันระหว่างความเป็นตะวันออกและตะวันตก ความหลงใหลในความแตกต่างของศิลปินผู้นี้ สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนจากสถานที่แสดงงานศิลปะที่เขาชื่นชอบ “ผมชอบหอศิลป์แห่งชาติของสิงคโปร์มากๆ” เขาเผย “พื้นที่ทั้งหมดของหอศิลป์คือการผสานกันระหว่างตะวันออกกับตะวันตก”
Jahan ได้เห็นการเติบโตของ Clarke Quay เพราะเขาได้ “ลงมือตกแต่งที่นี่ในช่วงที่ยังไม่พัฒนามากนัก” เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เขาได้กลับไปยืนที่เดิมอีกครั้ง เพราะได้รับเชิญให้ไปออกแบบภาพวาดบนผนังของโซน Phuture ห้องเต้นรำที่ทันสมัยของ Zouk ผับ “Zouk มีอิทธิพลกับผมมาก ผมเติบโตมาพร้อมๆ กับเสียงเพลงและใบปลิวของที่นี่”
ที่น่าลอง