สนามหญ้าในวัด Thian Hock Keng Temple

ถ่ายภาพโดย Joel Chua DY

คุณคงไม่เคยทราบว่าในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถนน Telok Ayer Street (ถนนทีล็อก เอเยอร์) เคยตั้งอยู่ติดกับชายหาดและทะเล บริเวณที่ติดกับชายหาดนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับวิศวกรผังเมืองในยุคอาณานิคม และย่าน Chinatown (ไชน่าทาวน์) ก็เริ่มขยายตัวเข้าไปในแผ่นดินจากจุดนี้

แม้ว่าจะมีการถมทะเลออกไปจากชายฝั่งเดิม วัด Thian Hock Keng Temple (หรือ "วัดแห่งความสุขบนสรวงสวรรค์") ก็ยังคงตั้งอยู่โดดเด่นท่ามกลางบาร์และร้านอาหารสมัยใหม่ที่ตั้งเรียงรายอยู่บนถนนสายเดียวกัน โดยเป็นเครื่องรำลึกถึงจุดเริ่มต้นของ Chinatown ได้อย่างชัดเจน

พิธีไหว้ขอบคุณองค์เทพเจ้า
ภายในวัด Thian Hock Keng Temple

ถ่ายภาพโดย Joel Chua DY

วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1839 โดยได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากชาวฮกเกี้ยนผู้มีชื่อเสียง อาทิ เศรษฐีผู้ใจบุญนามว่า ตัน ต็อก เส็ง (Tan Tock Seng) วัด Thian Hock Keng Temple เป็นวัดจีนที่เก่าแก่ที่สุดของสิงคโปร์

วัดนี้ได้รับการสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่องค์หม่าโจ่ว (Mazu) หรือเจ้าแม่ทับทิม (เทพธิดาแห่งท้องทะเล) เล่ากันว่า ชาวจีนอพยพในยุคแรกๆ เคยมาทำพิธีเซ่นไหว้เพื่อขอบคุณเทพเจ้า ณ วัดแห่งนี้ที่ได้ปกป้องคุ้มครองให้พวกเขาเดินทางฝ่าคลื่นลมอันบ้าคลั่งในทะเลจีนใต้จนสามารถขึ้นฝั่งได้อย่างปลอดภัย

วัดแห่งนี้มีชื่อเสียงมากจนถึงขั้นเป็นที่สนพระทัยของจักรพรรดิกวังซวี่ แห่งราชวงศ์ชิง (Qing Emperor Guang Xu) พระองค์จึงได้พระราชทานแผ่นจารึกอักษรวิจิตรในภาษาจีนซึ่งเขียนว่า โบ่จิงหนานหมิง (ซึ่งในภาษาจีนแปลว่า คลื่นลมอันสงบแห่งทะเลใต้) ในปี ค.ศ. 1907 แผ่นจารึกอักษรดังกล่าวตอนนี้ได้รับการจัดแสดงที่ National Museum of Singapore (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของสิงคโปร์)

ลวดลายอันวิจิตรตระการตา

ที่วัดแห่งนี้ คุณสามารถดื่มด่ำไปกับสถาปัตยกรรมอันงดงามอลังการในสไตล์ศิลปะจีนทางตอนใต้แบบดั้งเดิม

อย่าลืมมองหาลวดลายแกะสลักอันวิจิตรบรรจง และรูปปั้นมังกร นกฟีนิกส์ และเหล่าทวยเทพ รวมทั้งเศษกระเบื้องเคลือบหลากสีสันบนสันหลังคา ซึ่งเป็นเทคนิคการประดับตกแต่งของชาวจีนจากมณฑลฟูเจี้ยน

ที่น่าประหลาดใจมากก็คือ ไม่มีการใช้ตะปูแม้แต่ตัวเดียวในการก่อสร้างวัดในครั้งแรก โดยวัดนี้ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติและอยู่ภายใต้การบริหารจัดการโดยสมาคมชาวฮกเกี้ยนแห่งสิงคโปร์ (Singapore Hokkien Huay Kuan)